ความเป็นมา

          สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายใต้ชื่อ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากในขณะนั้นได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร วิชาเอกส่งเสริมการเกษตร  และแขนงวิชาสหกรณ์ วิชาเอกสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนต่อมหาวิทยาลัยเปิด 2521” โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการ ผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า มีผู้สนใจสาขาวิชาทางเกษตรเป็นจำนวนมากในจำนวนสาขาวิชาที่เลือกเป็นอันดับหนึ่งจาก 10 สาขาวิชา ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 ให้มีโครงการจัดตั้งสาขาวิชาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ ต่อมา สาขาวิชาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อเปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          พ.ศ. 2534 หลักสูตรส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร วิชาเอกส่งเสริมการป่าไม้
          พ.ศ. 2538 หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาเทคโนโลยีการเกษตร วิชาเอกการจัดการการผลิตพืช และแขนงวิชาธุรกิจการเกษตร วิชาเอกธุรกิจการเกษตร
          พ.ศ. 2543 หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาเทคโนโลยีการเกษตร วิชาเอกการจัดการการผลิตสัตว์  แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร วิชาเอกส่งเสริมการเกษตร (หลักสูตรปรับปรุงใหม่) และหลักสูตรเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร
          พ.ศ. 2550 หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาการจัดการการเกษตร วิชาเอกการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม วิชาเอกการจัดการการผลิตพืช วิชาเอกการจัดการการผลิตสัตว์ และวิชาเอกธุรกิจการเกษตร
          พ.ศ. 2551 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต แขนงวิชาสหกรณ์ (พหุวิทยาการ)
          พ.ศ. 2554 หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร
          พ.ศ. 2554 หลักสูตรเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร วิชาเอกส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร
          พ.ศ. 2554 หลักสูตรเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการจัดการการเกษตร วิชาเอกการจัดการทรัพยากรเกษตร
          พ.ศ. 2554 หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต แขนงวิชาสหกรณ์ (พหุวิทยาการ)
          เพื่อให้ชื่อสาขาวิชาครอบคลุมหลักสูตรต่างๆ ที่มีการจัดการเรียนการสอน จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาจาก ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ เป็น เกษตรศาสตร์และสหกรณ์ ตามที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและวิทยฐานะให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน เกษตรกร ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยจัดการเรียนการสอนตามระบบเปิดที่ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนในด้านการเกษตรและสหกรณ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรและสหกรณ์ อันจะส่งผลให้มีความรักต่อธรรมชาติ และปรารถนาจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศสืบไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์ ธุรกิจการเกษตร การจัดการการผลิตพืชและสัตว์ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบการศึกษาทางไกล

  2. เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและจัดการองค์ความรู้ในการพัฒนาด้านการเกษตร สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ จนถึงระดับนานาชาติ

  3. เพื่อเผยแพร่ความรู้และเรียนรู้ร่วมกันกับเกษตรกร ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น ด้านเกษตรศาสตร์ สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม

  4. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม

  5. เพื่อพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัย

วิสัยทัศน์

        เป็นองค์กรชั้นนำในการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกล ด้านเกษตรศาสตร์สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม

พันธกิจ

พันธกิจที่ 1 พัฒนาการเรียนการสอนทางไกลด้านเกษตรศาสตร์ สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งผลิตบัณฑิตทุกระดับเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ
พันธกิจที่ 2 วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตร สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม
พันธกิจที่ 3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน องค์กร สถาบันในสังคม ด้านการเกษตร สหกรณ์ ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมฐานความรู้
พันธกิจที่ 4 ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
พันธกิจที่ 5 พัฒนาการบริหารจัดการสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ให้สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย

แขนงวิชา

แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร
การเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร หรือนำไปประยุกต์ใช้ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน โดยสอนหลักการในการถ่ายทอดวิทยาการสู่ชุมชน และการทำงานมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เช่น ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาชนบท การเป็นผู้นำ มนุษยสัมพันธ์และจิตวิทยาสำหรับการเกษตร สารสนเทศและสื่อที่ใช้ในการเกษตร

แขนงวิชาการจัดการการเกษตร

  1. วิชาเอกการจัดการการผลิตพืช:การเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการจัดการการผลิตพืช การจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงพันธุ์พืช และการจัดการผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ธัญพืช พืชอาหารสัตว์ พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับ และผัก เป็นต้น
  2. วิชาเอกการจัดการการผลิตสัตว์: การเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น สุกร สัตว์ปีก โคเนื้อ และโคนม เป็นต้น
  3. ธุรกิจการเกษตร: การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจการเกษตร ทั้งด้านการผลิต การตลาด ทรัพยากรมนุษย์ การเงิน และธุรกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
  4. การจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม: การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมป่าไม้ และวนศาสตร์เกษตร

แขนงวิชาสหกรณ์
การเรียนรู้เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาการสหกรณ์ไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสมาชิกสหกรณ์ เช่น การจัดการและการดำเนินงานการสหกรณ์ ธนกิจและบัญชีสหกรณ์เพื่อการจัดการ วิธีวิจัยทางสหกรณ์ และการบริหารธุรกิจสหกรณ์ด้านต่างๆ เป็นต้น